ป่าในอุดมคติของคุณเป็นยังไงครับ? คุณนึกภาพเห็นป่าที่มีต้นไม้ลำต้นสูงๆ เรือนยอดปกคลุมแบบให้ร่มเงา กวางน้อย กระรอก และเหล่านกต่างเริงร่ากระโดดโลดเต้นและส่งเสียงขับขานเจื้อยแจ้วหรือเปล่า? ป่าของคุณมีทางเดินโล่งๆที่ไม่ต้องมีเถาวัลย์หนามมากวนใจ ไม่มีเถาวัลย์ใหญ่มาคอยห้อยย้อยให้เกะกะต้องก้มหรือเปล่า? ในป่านี้ช้างจะเดินได้อย่างสะดวกสบาย ควายจะไม่ต้องรำคาญว่าจะมีอะไรมาพันเขา และ เราจะได้ท่องเที่ยวกันอย่างมีความสุข ผมเชื่อว่าคำตอบของหลายๆคนเป็นแบบนั้น นี่คือรูปแบบของป่าที่มนุษย์เห็นแล้วสบายใจ เราถึงสร้างป่าที่มีรูปแบบเช่นนั้นเมื่อมีโอกาส สวนลุมพินีกรุงเทพฯ ไฮด์ปาร์คในลอนดอน หรือ เซ็นทรัลปาร์คในนิวยอร์ค ล้วนมีหน้าตาเช่นนั้น ต้นไม้ใหญ่สูงๆให้ร่มเงา ไม้พุ่มเตี้ยดอกสวยๆสลับกับทุ่งหญ้า มองเห็นได้ไกลๆและไม่รก ทางเดินที่โล่งเรียบและไม่มีอะไรกีดขวาง
แต่เราคงต้องยอมรับว่ามนุษย์ เป็นสัตว์ที่ห่างไกลจากความเป็น”ธรรมชาติ” มากที่สุดแล้ว ในโลกใบนี้ เราพยายามที่จะจัดการทุกอย่างให้เราได้อยู่อย่างสบายที่สุด เราใช้ความนึกคิดของเรา หยิ่งทระนงว่าเราฉลาดและคิดแทนทุกชีวิตได้ แล้วก็จัดการสภาพแวดล้อมไปตามที่เราคิดว่าดี๊ดี อะไรที่เราเห็นแล้วไม่ชอบใจ ก็พร้อมที่จะเข้าไปจัดการกับมันให้”ดี”ตามอุดมคติของเรา ถ้ายอมรับแบบนี้แล้วป่าเถาวัลย์ที่แก่งกระจาน ถือว่าห่างไกลจากป่าอุดมคติของมนุษย์เอามากๆ ป่าอะไรกัน รกรุงรัง ทึบ เกะกะ มีหนาม และไม่สวยงาม เมื่อคิดได้แบบนี้แล้ว เราจึงบอกว่าป่าเถาวัลย์”ไม่ดี”ต้องปรับปรุงให้เข้ากับอุดมคติของเรา แล้วเราเคยถามสัตว์อื่นไหม?
ถูกว่าช้างอาจจะเข้าไปเดินในป่าเถาวัลย์ไม่ได้ แล้วสัตว์อื่นๆหล่ะ? ผมยอมรับว่าผมแค่ขับรถผ่าน ผมจอดรถลงไปยืนดูแค่ไม่กี่นาที ไม่ได้มีเวลาคลุกคลีอะไรมากมาย แต่ในห่วงเวลานั้น ผมพบ ค่างแว่นถิ่นใต้ ลิงเสน และหมาไม้ ผมได้ยินเสียงนกตัวเล็กๆ ร้องออกมาจากในพุ่มทึบที่รกแน่นและมืดเกินกว่าผมจะส่องเห็นได้ว่าเป็นนกอะไร สัตว์ทั้งหมดที่ผมเอ่ยถึง โผล่มาให้เห็นแค่เพียงไม่นาน ก่อนที่จะหลบหายเข้าไปในป่าเถาวัลย์ เงียบ เนียน ราวกับพวกเขาไม่เคยมีตัวตน และผมก็คงไม่กล้าตามเข้าไปเพราะมันรกทึบเกินไปเดินลำบากและเต็มไปด้วยหนามที่พร้อมจะเกี่ยวเรียกเลือดได้ตลอดเวลา เสือดาวสัตว์ผู้ล่าของสัตว์เล็กๆพวกนี้ที่มีอยู่มากในป่าแก่งกระจานก็คงมีปัญหาเหมือนกัน แต่ข้อสำคัญที่สุดคือผมกลัวเห็บป่า เห็บป่าที่ผู้วิจัยป่าเถาวัลย์เองบอกว่าโดนกัดอยู่เป็นประจำขณะเข้าไปทำวิจัยในพื้นที่ เห็บป่ากินเลือดของสัตว์เลี้ยงด้วยนมเป็นอาหาร ถ้าในป่าเถาวัลย์ไม่มีสัตว์สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้เลยตามที่มีการกล่าวอ้างกันตามหน้าหนังสือพิมพ์ เห็บจะอยู่ในป่าบริเวณนั้นทำอะไรกัน? มันคงไม่ได้เข้าไปรอความตายในป่าอันมืดดำเป็นแน่
ยอมรับครับ ว่ามีรายงานของเถาวัลย์ที่รุกรานป่าจริงๆ ในอเมริกากลาง/ใต้มีการศึกษากันอยู่ถึง 40 ปี ก่อนที่สถาบันสมิทโซเนี่ยนจะออกมาบอกว่าเถาวัลย์คลุมป่าเพิ่มขึ้น (แต่การศึกษาในแอฟริกาก็ไม่พบว่ามีเพิ่มขึ้น) สาเหตุที่เค้าบอกซึ่งเป็นสาเหตุเดียวกับที่เราใช้อยู่ก็คือ เถาวัลย์ทนแล้งได้ดีกว่าพืชยืนต้น และฟื้นตัวเร็วกว่าในกรณีที่เกิดภัยทางธรรมชาติ เช่น เฮอริเคน ในปัจจุบันที่ภูมิอากาศแปรปรวนเถาวัลย์จึงเพิ่มจำนวนขึ้น แต่ช้าก่อน!นั่นเค้าศึกษากันมา 40 ปีก่อนที่จะสรุป ส่วนของเราดูเหมือนว่าจะสรุปเสร็จไป 2 เดือนแล้วจึงได้เริ่มทำวิจัย หาเหตุผลมาประกอบต่างๆนานาเพื่อโน้มเอียงให้สาธารณะชนเชื่อไปเช่นนั้นและถึงแม้จะทำงานหนักแค่ไหนก็ตาม งานวิจัยทางด้านระบบนิเวศน์ไม่สามารถเร่งให้เสร็จเร็วได้ครับ เราจะเอางานวิจัยที่ต้องทำ 1 ปีมาเพิ่มจำนวนคนสองเท่าแล้วเร่งให้เสร็จใน 6 เดือนไม่ได้แน่ๆ วัฏจักรของโลกไม่ได้เป็นอย่างนั้น
ผมก็ไม่ได้เป็นคนขวางโลกมากมายนัก คือถ้าหากวันหนึ่งผลงานวิจัยด้วย กลุ่มบุคคล วิธีและระยะเวลาที่ยอมรับได้ ออกมาบอกว่าต้องมีการกำจัดเถาวัลย์จริงๆ และการที่ป่าถล่มที่แก่งกระจานเพราะเถาวัลย์ไม่ใช่กระบวนการเปลี่ยนถ่ายรุ่นของป่า คือไม้ใหญ่ชนิดพันธุ์รุ่นเบิกนำถล่มลงให้ลูกไม้ของป่าใหญ่ได้เติบโตตามที่ผู้ใหญ่และอาจารย์หลายท่านในห้องประชุมแถลงผลการวิจัย 6 เดือนแรกที่ม.เกษตรศาสตร์วันนั้นเข้าใจ และป่าเถาวัลย์ไม่มีประโยชน์ใดๆต่อระบบนิเวศน์ ไม่มีสัตว์ใดๆเข้าไปใช้ประโยชน์เลย วันนั้นผมก็พร้อมที่จะยอมรับเช่นนั้นและจะไปช่วยตัดเถาวัลย์กับมือคู่นี้ แต่กับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เถาวัลย์ถูกตัดถูกหั่นไปทั่วป่าแก่งกระจานโดยยังไม่มีงานวิจัยใดๆลองรับและมีการออกข่าวใส่ร้ายป้ายสีเถาวัลย์ราวกับว่าได้มีการวิจัยมาแล้วด้วยข้อมูลที่หนักแน่น อ้างอิงข้อมูลจากต่างประเทศแบบบิดเบือนหรือบอกไม่หมด และประชาชนจะต้องยอมนำเงินภาษีหลายสิบล้านมาใช้จ่ายในการกำจัดเถาวัลย์ให้กับหน่วยงานภาครัฐที่ขึ้นชื่อทางด้านคอรับชั่นมาอย่างต่อเนื่อง และก็ยังเป็นข่าวอยู่ในปัจจุบัน ผมรับไม่ได้(หว่ะ)
ความหลากหลายทางชีวภาพถูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1. ระดับพันธุกรรม หรือความหลากหลายของพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิตนั้นๆ 2. ความหลากหลายของชนิดในพื้นที่ และ 3. ความหลากหลายของระบบนิเวศน์หรือสภาพพื้นที่ ในข้อ 3 นี้หมายถึงสภาพธรรมชาติที่หลากหลายไม่ใช่แต่ป่าในอุดมคติของมนุษย์แต่เพียงอย่างเดียว ป่าเถาวัลย์รกๆ ก็เป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิต(เท่าที่ผมเห็น) ป่าต้นไม้ใหญ่ๆโปร่งๆก็เป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตอีกกลุ่มหนึ่ง ทุ่งหญ้าโล่งๆก็มีความจำเป็น อาจจะมีการแลกเปลี่ยนและแบ่งปัน แต่ไม่สามารถทดแทนกันได้ ความหลากหลายของ 1 และ 2 จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าขาดข้อ 3 ระบบนิเวศที่สมบูรณ์จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าขาดความหลากหลายทางชีวภาพ ความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ (แม้ว่าคุณจะอาศัยอยู่ในเมือง กินแต่หมู แต่วัวและปลาทับทิม) จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าระบบนิเวศน์ขาดความสมดุล
ลองถอดความเป็นมนุษย์ของคุณออก ทำใจให้สัตว์ๆหน่อย แล้วคุณอาจจะเห็นว่าในความรกของป่าเถาวัลย์มีความงามและอบอุ่นของ”บ้าน”ซ่อนอยู่ และบ้านหลังนี้นี่แหล่ะที่ช่วยประคับประคองทุกชีวิตบนโลกใบนี้ให้อยู่รอด
อ้างอิง
chnitzer, S.A., and Bongers, F. 2011. Increasing liana abundance and biomass in tropical forests: emerging patterns and putative mechanisms. Ecology Letters. Doi: 10.1111/j.1461-0248.2011.01890.x For online publication on 14 Feb. 2011
ปล. ถ้าต้องการบทความที่เป็นวิชาการมากกว่านี้เชิญที่บทความนี้นะครับ http://www.siamensis.org/article/2369
ป่าในอุดมคติของคุณเป็นแบบ Hyde Park ที่ London หรือเปล่า?
แบบนี้สวยมั้ย?
ค่างแว่นเค้าชอบนะ
ลิงเสนก็ชอบ.